วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลักสูตรแกนกลาง 2551


ประเด็นถาม-ตอบ เกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
ถาม
1.การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาจำเป็นต้องเหมือนกับโครงสร้างเวลาเรียนที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หรือไม่
ตอบ
การจัดทำโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาโดยคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการของสถานศึกษา ต้องนำโครงสร้างเวลาเรียนที่กำหนดในหลักสูตรแกนกลางฯมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง อย่างไรก็ตามหลักสูตรแกนกลางได้กำหนดแนวทางการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐานและเพิ่มเติม เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้เป็นแนวทางการดำเนินการ ให้สถานศึกษาสามารถปรับให้สอดคล้องกับบริบทของตนเองได้ตามความจำเป็น ดังนี้
1.ระดับประถมศึกษา
1.1 สามารถปรับเวลาเรียนพื้นฐานแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องมีเวลาเรียนรวมตามที่กำหนดไว้ในโครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐาน(840 ชั่วโมง/ต่อปี
1.2 สำหรับเวลาเรียนเพิ่มเติม สามารถจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมหรือกิจกรรมเพิ่มเติมโดยพิจารณาให้สอดคล้องกับความพร้อม จุดเน้นของสถานศึกษาและเกณฑ์การจบหลักสูตร เฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
1-3 สถานศึกษาอาจจัดเวลาเรียนเพิ่มเติมให้เป็นเวลาสำหรับสาระการเรียนรู้พื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
2. ระดับมัธยมศึกษา
การจัดโครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ

ถาม
2. สถานศึกษา จำเป็นต้องนำทุกตัวชี้วัดที่กำหนดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มาใช้ในการจัดทำคำอธิบายรายวิชาของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆหรือไม่
ตอบ
การจัดทำคำอธิบายรายวิชาของกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ สถานศึกษาจำเป็นต้องนำตัวชี้วัดทุกข้อ พร้อมทั้งสาระการเรียนรู้แกนกลาง ที่กำหนดในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการจัดทำคำอธิบายรายวิชาพื้นฐาน เพราะเป็นรายวิชาที่เปิดสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้ที่กำหนดในหลักสูตรแกนกลางฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนรู้ สำหรับรายวิชาเพิ่มเติม เป็นรายวิชาที่พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถเพื่อให้สอดคล้องกับจุดเน้น ความต้องการและความถนัดของผู้เรียน สถานศึกษาสามารถเปิดสอนรายวิชาเพิ่มเติมของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆได้โดยกำหนดเป็นผลการเรียนรู้ ว่าต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไร และทำอะไรได้ เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมต่างๆ

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น